วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ประวัติบายศรี

บายศรี เครื่องใช้ในพิธีกรรม เพื่อความเป็นสิริมงคล

            เมื่อพูดถึง บายศรีเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักและคุ้นเคยเพราะพบเห็นบ่อยในพิธีกรรมต่างๆ แทบทุกภาคของไทย เช่น การทำขวัญคน การทำขวัญข้าว การบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การไหว้ครูนาฏศิลป์ดนตรี และพิธีสมโภชพระพุทธรูป เป็นต้น ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้ล้วนต้องใช้บายศรีเป็นเครื่องประกอบทั้งสิ้น
          พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.2542 ได้ให้ความหมายของคำว่า บายศรีว่าหมายถึงเครื่องเชิญขวัญหรือรับขวัญ ทำด้วยใบตองรูปคล้ายกระทงเป็นชั้นๆ มีขนาดใหญ่เล็กสอบขึ้นไปตามลำดับ เป็น 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกน มีเครื่องสังเวยอยู่ในบายศรีและมีไข่ขวัญเสียบอยู่บนยอดบายศรี  คำว่า บายศรีเกิดจากคำสองคำรวมกันคือ บายเป็นภาษาเขมรแปลว่า ข้าวและคำว่า ศรีเป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า มิ่งขวัญ สิริมงคลรวมความแล้ว บายศรีก็คือ ข้าวขวัญหรือข้าวที่มีสิริมงคล เราจึงพบว่า  ตัวบายศรีมักมีข้าวสุกเป็นส่วนประกอบและมักขาดไม่ได้ แต่โดยทั่วไปเราจะหมายถึง ภาชนะที่จัดตกแต่งให้สวยงามเป็นพิเศษด้วยใบตองทำเป็นกระทง หรือใช้พานเงินพานทองตกแต่งด้วยดอกไม้เพื่อเป็นสำรับใส่อาหารคาวหวานในพิธี สังเวยบูชาและพิธีทำขวัญต่างๆ
          ประวัติความเป็นมาของบายศรีนั้น ไม่มีหลักฐานแน่นอนแต่มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว เนื่องจากมีการกล่าวถึงบายศรีในวรรณกรรมมหาชาติคำหลวง กัณฑ์มหาราชซึ่งแต่งในสมัยอยุธยาว่า แล้ว ธ ก็ให้บอกบายศรีบอกมิ่งอีกทั้งศิลปวัตถุตู้ลายรดน้ำสมัยอยุธยา ก็ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับบายศรี อย่างไรก็ดีเชื่อว่าบายศรีนี้น่าจะได้คติมาจากพราหมณ์แน่นอน เพราะบายศรีต้องใช้ใบตองเป็นหลัก ซึ่งตามคติของพราหมณ์เชื่อว่าใบตองเป็นของบริสุทธิ์สะอาดไม่มีมลทินของอาหาร เก่าแปดเปื้อนเหมือนถ้วยชาม จึงนำมาทำภาชนะใส่อาหารเป็นรูปกระทง ต่อมาจึงมีการประดับประดาตกแต่งให้สวยงามขึ้น 

     โดยทั่วไปบายศรีจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ บายศรีของราษฎร และบายศรีของหลวง


          บายศรีของราษฎร ได้แก่ บายศรีที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ของราษฎร ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไป แต่แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ บายศรีปากชาม และบายศรีใหญ่หรือบายศรีต้น



                บายศรีปากชาม จะเป็นบายศรีขนาดเล็กนำใบตองมาม้วนเป็นรูปกรวยใส่ข้าวสุกข้างใน ตั้งกรวยคว่ำไว้กลางชามขนาดใหญ่ ให้ยอดแหลมของกรวยอยู่ข้างบนและบนยอดให้ใช้ไม้เสียบไข่ต้มสุกปอกเปลือกที่ เรียกว่า ไข่ขวัญปักไว้โดยมีดอกไม้เสียบต่อขึ้นไปอีกที การจัดทำบายศรีเพื่อประกอบพิธีกรรมตอนเช้ามักจะมีเครื่องประกอบบายศรีเป็น อาหารง่ายๆ เช่น ข้าว ไข่ กล้วย และแตงกวา แต่ถ้าหลังเที่ยงไปแล้วไม่นิยมใส่ข้าว ไข่ แต่จะใช้ดอกบัวเสียบบนยอดกรวยแทนและใช้ดอกไม้ตกแต่งแทนกล้วยและแตงกวา



                   บายศรีใหญ่หรือบายศรีต้น จะเป็นบายศรีที่มีขนาดใหญ่กว่าบายศรีปากชาม นิยมทำเป็น 3 ชั้น 5 ชั้น และ 7 ชั้น หรือบางทีก็ทำถึง 9 ชั้น ด้วยเหตุว่านำคติเรื่องฉัตรมาเกี่ยวข้อง ซึ่งแท้จริงแล้วการทำบายศรีใหญ่หรือบายศรีต้นนี้ไม่มีการกำหนดชั้นตายตัว สุดแต่ผู้ทำจะเห็นว่าสวยงาม ถ้าทำชั้นมากก็ถือว่าเป็นเกียรติมากและในแต่ละชั้นของบายศรีมักใส่อาหาร ขนม ดอกไม้ ธูปเทียน ลงไปด้วย ปัจจุบันทั้งบายศรีปากชามและบายศรีใหญ่อาจจะใช้วัสดุอื่นๆ แทนใบตองซึ่งหาได้ยากขึ้น เช่น ใช้ผ้า กระดาษหรือวัสดุเทียมอื่นๆ ที่คล้ายใบตองมาตกแต่ง แต่รูปแบบโดยทั่วไป ก็ยังคงลักษณะบายศรีอยู่


           บายศรีของหลวง ได้แก่ บายศรีที่ใช้ในพระราชพิธีต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ พระมเหสี พระราชโอรส พระราชธิดา และพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งในโบราณราชประเพณี และพระราชพิธีที่ทรงมีพระประสงค์ให้จัดขึ้นในโอกาสพิเศษต่างๆ รวมไปถึงรัฐพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ด้วย ทั้งนี้ บายศรีของหลวงในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ



                บายศรีต้น เป็นบายศรีที่ทำด้วยใบตองมีแป้นไม้เป็นโครง มีลักษณะอย่างบายศรีของราษฎร แต่จะมี 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น และ 9 ชั้น ส่วนใหญ่ถ้าเป็น 9 ชั้น มักจะทำสำหรับพระมหากษัตริย์ พระราชินี ส่วน 7 ชั้น สำหรับพระมหาอุปราชา เช่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร   สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ 5 ชั้น สำหรับเจ้านายพระราชวงศ์ ส่วนขุนนางและประชาชนทั่วไปนิยมทำ 3 ชั้น



                   บายศรีแก้ว ทอง เงิน บายศรีชนิดนี้ประกอบด้วยพานแก้ว พานทอง และพานเงิน ขนาดใหญ่ เล็ก วางซ้อนกันขึ้นไปตามลำดับเป็นชั้นๆ 5 ชั้น โดยจะตั้งบายศรีแก้วไว้ตรงกลาง บายศรีทองทางขวา และบายศรีเงินตั้งทางซ้ายของผู้รับการสมโภช



                   บายศรีตองรองทองขาว เป็นบายศรีที่ทำด้วยใบตองอย่างบายศรีใหญ่ของราษฎร มีลักษณะเป็น 5 ชั้น หรือ 7 ชั้น แต่โดยมากมักทำ 7 ชั้น บายศรีตองชนิดนี้มักตั้งบนพานใหญ่ซึ่งเป็นโลหะทองขาว จึงเรียกว่าบายศรีตองรองทองขาว ส่วนใหญ่จะตั้งคู่กับบายศรีแก้ว ทอง เงิน  มักใช้ในงานพระราชพิธีใหญ่ เช่น พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ เป็นต้น
          โอกาสในการใช้บายศรี ส่วนใหญ่จะใช้ในการทำขวัญต่างๆ ที่เป็นประเพณีเกี่ยวกับชีวิต เช่น การทำขวัญเดือน ทำขวัญนาค ทำขวัญแต่งงาน (นิยมในภาคเหนือและอีสาน) ทำขวัญนา ทำขวัญแม่โพสพ หรือแม้แต่การทำขวัญสัตว์อย่างวัว ควาย เป็นต้น รวมไปถึงพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน การบวงสรวงสังเวยและการสมโภชต่างๆ เช่น การตั้งศาลพระภูมิ การวางศิลาฤกษ์ การไหว้เทวดาอารักษ์ การบูชาครูช่าง เป็นต้น

          ส่วนการใช้บายศรีชนิดใดในโอกาสไหนนั้น มีข้อสังเกตง่ายๆ ว่าบายศรีปากชาม มักใช้ในพิธีทำขวัญในครัวเรือนอย่างง่ายๆ ที่มิใช่งานใหญ่โต เช่น การทำขวัญเดือนเด็ก หรือในพิธีตั้งศาลหรือถอนศาลพระภูมิ เป็นต้น ส่วนบายศรีต้นหรือบายศรีใหญ่ มักใช้เป็นเครื่องบูชาเทพยดาตามลัทธิพราหมณ์ที่มิใช่บูชาพระ หรือมักใช้ในงานใหญ่ที่ครึกครื้น เช่น ทำขวัญนาค ฉลองสมณศักดิ์ หรือในการไหว้ครู เป็นต้น แต่ในบางงานก็อาจจะใช้ทั้งสองชนิดควบคู่กันไปก็มี เป็นที่น่าสังเกตว่าในภาคกลางเรามักจะเป็นการใช้บายศรีในการบวงสรวง พิธีไหว้ครูหรือพิธีสมโภช ส่วนภาคอีสานและล้านนามักใช้บายศรีในการทำขวัญต่างๆ โดยทางล้านนาจะเขียนเป็น 
         “บายศรี”(อ่านว่า บายสี) แต่นิยมเรียกว่า ใบสีหรือ ใบสรีส่วนอีสานจะเรียกบายศรีว่า พาบายศรีหรือ พาขวัญหรือบางท้องถิ่นก็เรียก ขันบายศรีก็มี
         อนึ่ง การที่ต้องมีการทำขวัญต่างๆ นั้น ก็เพราะคนโบราณเชื่อว่าร่างกายของมนุษย์  ทุกคนจะมีขวัญกำกับอยู่ เมื่อขวัญได้รับการกระทบกระเทือนก็จะตกหรือหนีหายไปจากร่างกาย  ที่เรียกว่า ขวัญหนี ขวัญหาย ขวัญบิน ฯลฯ ทำให้เจ้าตัวไม่สบายหรือเจ็บไข้ได้ป่วย จึงต้องมีการเรียกขวัญให้กลับมาอยู่กับตนหรืออาจจะเป็นการรับขวัญผู้มาเยือน เพื่อเป็นสิริมงคลก็ได้ นอกจาก ทำขวัญคนแล้วยังสามารถทำขวัญสัตว์ และสิ่งของต่างๆ ได้ด้วย


  ลิ้งค์ Facebook

อ้างอิง : http://emuseum.treasury.go.th/article/606-baisri.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น